ล่องใต้ ละลานตา แลเหยี่ยวอพยพ ที่ชุมพร
ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนไปจนตลอดเดือนตุลาคม คอดูนกทั้งหลายต้องไม่พลาดที่จะไปรอชมปรากฏการณ์ธรรมชาติ ฤดูกาลเหยี่ยวอพยพนับแสนตัว ที่หนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ณ ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร
นักเที่ยวจะตื่นตาตื่นใจไปกับฝูงเหยี่ยวหลากหลายสายพันธุ์ เช่น เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวหน้าเทา เหยี่ยวทุ่ง เหยี่ยวตีนแดง เหยี่ยวออสเปร และไฮไลท์ของเหยี่ยวกลุ่มนี้ คือ นกอินทรีย์ ซึ่งจัดว่าหาชมได้ยากในเมืองไทย
เมื่อฤดูหนาวใกล้จะมาเยือน ฝูงนกนานาชนิดจากประเทศทางซีกโลกภาคเหนือ อาทิ จีน รัสเซีย มองโกเลีย เป็นต้น จะพร้อมเพรียงกันอพยพจากภูมิลำเนาลงมายังบริเวณประเทศตอนใต้ ที่มีอากาศอบอุ่นกว่า และมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถดำรงรักษาสายพันธุ์ไว้ได้ต่อไป นับเป็นปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์มาก ที่ฝูงนกนับแสนสามารถโบยบินข้ามขอบฟ้ามาหลบอากาศหนาวเย็นที่ประเทศไทยได้อย่างแม่นยำและตรงเวลา
เนื่องจากจังหวัดชุมพร มีแนวเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบกว้างใหญ่จรดชายฝั่ง และยังเป็นส่วนหนึ่งของคอคอดกระ หรือส่วนที่แผ่นดินมีความแคบที่สุดของคาบสมุทรมลายู ซึ่งนกจำนวนมากจากทั่วทุกสารทิศ จะต้องพากันรวมกลุ่มเดินทางไกลอพยพผ่านชุมพร ทำให้สามารถสัมผัสวัฏจักรวงจรชีวิตนี้ได้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตลอดเดือนตุลาคมของทุกปี ก่อนที่จะเลยผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นในละแวกนั้น โดยในช่วงเช้านกเหยี่ยวจะบินอพยพในระดับต่ำ และจะไต่ระดับความสูงยิ่งขึ้น ตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน
นักดูนกทั้งหลาย หาโอกาสไปเฝ้ามองหมู่นกเหยี่ยวผกผินบินว่อนทั่วท้องฟ้า และเก็บภาพประทับใจความสวยงามน่าเกรงขามของฝูงเหยี่ยวอพยพที่ จ.ชุมพร กันให้ได้ เพราะหากพลาดชมครั้งนี้ ต้องรอถึงปีหน้าจึงจะได้ชมกันอีกครั้ง หลังจากดูเสร็จแล้ว อย่าลืมแวะแหล่งเที่ยวที่ขึ้นชื่อของชุมพร ดังคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เทศบาลตำบลท่ายาง โทร. 077-553360 ต่อ 11, ททท.สำนักงานชุมพร โทร. 077-501831-2
สถานที่: ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร
ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การดูนก: เช้าตรู่ถึง 10.00 น. กลางเดือนกันยายนถึงตุลาคม
ขอบคุณข้อมูลจาก: การเที่ยวแห่งประเทศไทย